ประวัติขิม !!!

ขิม เป็นเครื่องดนตรีที่อยู่ในตระกูล Hammered Dulcimer มีต้นกำเนิดจาก เปอร์เซียหรือดินแดน ตะวันออกกลาง ได้แก่อีหร่านในปัจจุบัน มีการแพร่กระจายไปยังวัฒนธรรมต่าง ๆ ได้แก่ ยุโรปตะวันออก ตะวันออก กลาง อินเดีย และปากีสถาน มีการเรียก ชื่อเครื่องดนตรีชิ้นนี้ว่า “ซานทูร์” (Santur) และ “คิมบาลอม” (Cymbalom) เมื่อเครื่องดนตรีชนิดนี้ไปอยู่ในวัฒนธรรมใดก็ตาม มักถูกปรับให้มีลักษณะเฉพาะของวัฒนธรรมนั้น ๆ นอกจากนี้ยังเรียกชื่อแตกต่างกันอีกด้วย เช่น อินเดีย เรียกว่า santur, santour, หรือ santoor จีนเรียกว่า “หยาง ฉิน”(Yangqin หรือ Yang Ch’in)
การเข้ามาสู่ประเทศสยามของ “ขิม” ในชั้นแรกนั้นสันนิษฐานว่ามากับการแสดงงิ้ว ในการแสดงงิ้ว นี้ จะต้องมีดนตรีประกอบการแสดง เครื่องดนตรีที่ประกอบการแสดงจะต้องมีขิมและเครื่องดนตรีอื่น ๆ อยู่ด้วย ใน ประวัติศาสตร์ปรากฏการแสดงงิ้วในประเทศสยามตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏหลักฐานในบันทึกจดหมายเหตุ รายวันของบาทหลวง เดอ ชัวซี (De Choisy) ที่เข้ามาด้วยเงื่อนไขทางการฑูตในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ระบุ ว่ามีการแสดงงิ้วจีน ความว่า “…งานฉลองปิดท้ายรายการด้วยงิ้วหรือโศกนาฏกรรมจีนมีตัวแสดงมาจากมณฑลกวางตุ้ง คณะหนึ่ง และจากเมืองจินเจาคณะหนึ่งคณะที่มาจากเมืองจินเจานั้นแสดงได้เยี่ยม และเป็นระเบียบแบบแผนมากกว่า …” (สันต์ ท. โกมลบุตร, ผู้แปล, ๒๕๑๖: ๔๑๖-๔๑๗)
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้มีพ่อค่าชาวจีนเข้ามาทำการค้ากับประเทศไทย ได้นำขิมเข้ามาในประเทศ ไทยด้วย และในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนี้ได้มีปรากฏในหมายรับสั่งงานสมโภชพระแก้วมรกต ระบุมโหรีไทย แขก จีน เขมร ญวน ฝรั่ง เอาไว้ แต่มิได้ระบุว่ามีเครื่องดนตรีอะไรบ้าง ในการแสดงงิ้ว และในวงมโหรีจีน ที่กล่าวไว้ ในหมายรับสั่งงานครั้งนั้น น่าจะมี ”หยางฉิน” (Yang-Chin) หรือ “ขิม” ร่วมวงบรรเลงอยู่ด้วยแล้ว โดยเฉพาะในสมัย รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีการแสดงงิ้วกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๕ ตรงกับสมัยพระเจ้า
กวงสูของจีน เป็นสมัยที่งิ้วแต้จิ๋ว เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว
สาเหตุที่ไทยเราเรียกเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า “ขิม” ได้มีผู้ให้คำสันนิษฐานว่า คำว่า “ขิม” นี้อาจจะเพี้ยนมา จากคำว่า “คิ้ม” เพราะคำว่า “คิ้ม” เป็นชื่อเรียกเครื่องดนตรีกระกูลพิณ ที่มีลักษณะเป็นกล่องไม้ กลวงภายในและขึง ด้วยสายใช้สำหรับดีด หรือตีให้เกิดเสียง มีเสียงกังวาน คนไทยจึงเรียกตามและได้เพี้ยนจากเดิมกลายมาเป็น คำว่า “ขิม” แต่ชาวจีนยังคงเรียกเครื่องดนตรีที่ได้มาจากเปอร์เซีย ชนิดนี้ว่า “หยางฉิน” ใช้บรรเลงรวมวงกับ “ฮูฉิน” (Hu- Chin) “ฮูอู้”(Hu-Hu) และเครื่องประกอบจังหวะอื่นๆ คือกลอง“ตั่วปัง”(ฉาบใหญ่)“ซิมปอ” (เครื่องดนตรีประเภทโลหะ มีรูปลักษณะกลมคล้ายผ่าง)“แท่ล่อ”(เครื่องดนตรีประเภทโลหะ)เป็นวงดนตรีประกอบการแสดงงิ้วโบราณของจีน
เมื่อไทยเรานำขิมมาผสมวงบรรเลงในวงเครื่องสายไทย ได้ปรับปรุงดัดแปลงขิมเพื่อความเหมาะสมกับระบบ เสียงของเพลงไทย โดยเฉพาะได้ดัดแปลงส่วนประกอบต่าง ๆ ของขิมเพื่อให้มีเสียงกลมกลืนและสอดคล้องกับเครื่อง ดนตรีไทยชนิดอื่น ๆ ดังนี้
๑) เปลี่ยนแปลงแนวการเทียบเสียงใหม่ ซึ่งไม่เหมือน “หยางฉิน” ๒) ไม้ตีขิมของไทย ใช้หนังหรือสักหลาดหุ้มที่ปลายไม้ตรงส่วนที่ตีลงบนสายขิมเพื่อให้มีกระแสเสียงนุ่มนวล มากขึ้น และมีเสียงทุ้มกว่า “หยางฉิน”
๓)ใช้สายขิมที่ทำด้วยลวดทองเหลืองที่ผ่านกรรมวิธีการทำสายขิม โดยใช้ความตึงของลวดทองเหลือง ขนาด ๒๐/๑,๐๐๐ รวมทั้งหมด ๔๒ สาย สำหรับใช้กับขิมไทยโดยเฉพาะ ทำให้เกิดเสียงกังวานนุ่มนวล ไพเราะน่าฟัง มากขึ้นและเหมาะสมกับระบบเสียงเพลงไทยมากกว่า “หยางฉิน” ของจีน
นอกจากนี้ คณาจารย์ทางดุริยางคศิลป์ไทย ในกรมศิลปากรยังได้วิวัฒนาการคิดประดิษฐ์ขิมให้มี ๓ ขนาด คือขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ให้ชื่อว่า “ขิมเถา” ได้นำออกเผยแพร่ในต่างประเทศมาแล้ว
นอกจากขิม ๓ ขนาดดังกล่าว คณาจารย์ทางดุริยางคศิลป์ไทย ยังคิดประดิษฐ์ “ขิมเหล็ก” โดยการประดิษฐ์ ตามแนวขิมสายทุกประการ โดยนำแผ่นเหล็กขนาดเล็กมาจัดวางในลักษณะเดียวกับตำแหน่งที่ใช้ตีของสายทองเหลือง ของขิมปกติ เสียงของขิมเหล็กมีความกังวาน ให้น้ำเสียงแตกต่างไปจากขิมสาย มีการนำมาผสมวงบรรเลงกันอย่าง แพร่หลาย เช่นกัน
ขิมมีบทบาทในการผสมวงบรรเลงกับวงดนตรีไทย ประเภทวงเครื่องสายไทยมานาน อย่างน้อยในสมัยกรุง รัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่การผสมวงบรรเลงยังไม่เป็นรูปแบบนัก ต่อมาวงเครื่องสายผสมขิม ที่เป็นแบบฉบับ ได้เกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๗ ตามที่อาจารย์มนตรี ตราโมท เล่าไว้ดังนี้
“การที่ข้าพเจ้าสามารถตีขิมได้และเป็นคนขิมประจำวังหลวงก็เพราะ คุณหลวงไพเราะฯ เป็นผู้ริเริ่ม ให้ แรกเริ่มนั้น จีนผู้หนึ่งได้ให้ขิมจีนอย่างเก่าตัวหนึ่งรูปร่างเป็น ๔ เหลี่ยมด้านบนสอบเข้า ไม่ มีลายเขียนใด ๆ แก่คุณหลวงไพเราะฯ พร้อมทั้งแนะนำวิธีตีให้ด้วยคุณหลวงก็เอาขิมตัวนั้นมาให้ ข้าพเจ้าและแนะนำวิธีตีตามที่จีนผู้นั้นบอกให้อีกต่อหนึ่ง ข้าพเจ้าได้เอามาฝึกหัดตีด้วยความพอใจ บังเอิญปีนั้นได้ตามเสด็จทางเรือ ข้าพเจ้ามีเวลาฝึกตีไปในเรือทุกวัน กว่าจะเสด็จกลับก็ตีได้ คล่องแคล่วได้ร่วมบรรเลงกับวงเครื่องสายในงานนอกบ่อยๆ” (มนตรี ตราโมท อ้างใน อานันท์นาคคง,๒๕๓๕: ๒๐)
การริเริ่มนำขิมมาบรรเลงในวงดนตรีไทยอย่างเป็นแบบแผนนั้น ได้เกิดขึ้นเมื่อกรมมหรสพต้องมีการผสมวง เฉพาะกิจเพื่อบรรเลงถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ เมื่อทรงพระประชวร ตามคำแนะนำของแพทย์
“…ครั้น พ.ศ.๒๔๖๗ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพระประชวรแพทย์ถวายคำ แนะนำ ให้ ทรงฟังดนตรีบรรเลงเบา ๆ หรือนิทานในเวลาบ่ายทุก ๆ วัน กรมมหรสพก็ต้องจัดวง เครื่องสาย
อย่างเบาไปบรรเลงถวายข้างห้องพระบรรทมที่ วังพญาไท (ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลพระมงกุฎ เกล้า) เครื่องดนตรีทุกอย่างต้องห้ามเสียง ให้ได้ยินเหมือนบรรเลงไกล ๆ และการบรรเลงนี้ให้มี ขิมบรรเลงด้วย จึงได้ซื้อขิมจากร้านดุริยบรรณเป็นของหลวงในครั้งแรก วงที่บรรเลงนั้นมี หลวงไพเราะเสียงซอ สีซอด้วง, พระสรรเพลงสรวง สีซออู้, พระเพลงไพเราะ เป่าขลุ่ย, นายจ่าง แสงดาวเด่น ดีดจะเข้, ข้าพเจ้า ตีขิม, หลวงวิมลวังเวงกับพระประดับดุริยกิจตีโทนรำมะนาและ หลวงเสียงเสนาะกรรณ ตีฉิ่ง จนหายประชวรเป็นปกติ นับว่าเป็นเครื่องสายวงหลวงของกรม มหรสพมีขิมผสมเป็นครั้งแรก”(เล่มเดียวกัน, ๒๕๕๒: ๒๐)
สรุปได้ว่า วงเครื่องสายผสมขิม วงแรก ที่มีนักดนตรีครบวง ถือเป็นแบบฉบับการผสมวงดนตรีไทย และได้ บรรเลงเป็นครั้งแรก ณ วังพญาไท ในคราวนั้น มีนักดนตรีดังต่อไปนี้
๑. หลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยะชีวิน) ซอด้วง
๒. พระสรรเพลงสรวง (บัว กมลวาทิน) ซออู้
๓. นายจ่าง แสงดาวเด่น จะเข้
๔. นายมนตรี ตราโมท ขิม
๕. พระเพลงไพเราะ(โสม สุวาทิต) ขลุ่ย
๖. หลวงวิมลวังเวง (ช่วง โชติวาทิน) โทน
๗. พระประดับดุริยกิจ (แหยม วีณิน) รำมะนา
๘. หลวงเสียงเสนาะกรรณ (พัน มุกตวาภัย) ฉิ่ง
จากนั้นมา เครื่องสายผสมขิมจึงได้รับความนิยมแพร่หลาย และบรรเลงในงานมงคลโดยทั่วไปสืบมาจนทุก วันนี้ นับว่าการผสมวงดนตรีขึ้นเฉพาะกิจครั้งนั้นเป็นการนำขิมเข้าไปบรรเลงครั้งแรกด้วยบทเพลงไทย และวิธีการ บรรเลงที่ปรับเข้าหาดนตรีไทย เพื่อเกื้อกูลส่งเสริมคุณภาพของเสียงให้เกิดสุนทรียภาพ อนึ่ง สิ่งที่สำคัญที่ไม่อาจละเลย ได้ คือ นักดนตรีที่กล่าวนามไว้นั้น ล้วนเป็นเอตทักคะทางดนตรีของกรุงรัตนโกสินทร์ทั้งสิ้น เมื่อนักดนตรีถึงพร้อม ด้วยทฤษฎีและปฏิบัติแล้ว หากจะนำเครื่องดนตรีชนิดใหม่มาผสมก็ไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งใด ๆ กลับส่งเสริม สุนทรียภาพให้แก่ผู้ฟังได้เป็นอย่างดี
ข้อสังเกตอย่างหนึ่งของการการนำเครื่องดนตรีต่างชาติมาผสม หรือบรรเลงร่วมกับวงดนตรีไทยนั้น ควรยึด ทำนองของบทเพลงและวิธีการแบบดนตรีไทยเป็นหลักเสียก่อน จากนั้นจะทำการสร้างลีลาเฉพาะอื่น ๆ อันเป็นการ ส่งเสริมสุนทรียะตามแบบไทยนั้น เป็นสิ่งที่ความตระหนักให้มาก มิใช่ทำให้ทำนอง หรือเอกลักษณ์ของดนตรีไทย เพี้ยนกลายไปตามเครื่องดนตรีต่างชาติเสียหมด
หนังสืออ้างอิง
สารานุกรมออนไลน์ wikipedia.org

ใส่ความเห็น